Column banner

ชวนอ่าน หนังสือทูลกระหม่อม ในบรรยากาศสบายๆ ของฤดูกาล

 

     สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นครั้งที่สองแล้วนะคะ ฉบับนี้ “แก้วใส” มาพร้อมกับ “หนังสือทูลกระหม่อม” หลายเล่มหลายแนวที่ท่านผู้อ่านสามารถเลือกหามาอ่านและชื่นชมได้ตามความสนใจในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ เราลองไปดูกันเลยดีกว่านะคะ

 
                                                             ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง 
                                               (Always Roaming with a Hungry Heart)

                                                 

         “หนังสือทูลกระหม่อม” เล่มแรกที่ขอกล่าวถึงคือ “ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง” ซึ่งเป็นหนังสือรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของ “ทูลกระหม่อม” ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๕๑ และภาพที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ได้จัดแสดงในงานนิทรรศการ “ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง” (Always Roaming with a Hungry Heart) ระหว่างวันที่ ๒๙ กรกฎาคม – ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครค่ะ 
        “ทูลกระหม่อม” ทรงเล่าถึงที่มาของภาพฝีพระหัตถ์ดังกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า 
        “การแสดงภาพถ่ายชุดนี้แปลกกว่าครั้งก่อนคือไม่แยกประเทศ เป็นภาพที่ถ่ายที่โน่นที่นี่ตามชอบใจตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๕๑ วิธีการถ่ายก็เป็นแบบเดิม คือเป็นภาพที่ถ่ายโดยปัจจุบันทันด่วน ไม่มีการตั้งรอ  ยิ่งภาพคนยิ่งไม่กล้าไปจ้องถ่าย เพราะรู้สึกว่าเสียมารยาท ครั้นจะไปขอร้องหรือจ้างคนให้แสดงท่า ก็เกรงว่าจะดูไม่เป็นธรรมชาติ
        “ส่วนใหญ่เวลาถ่ายภาพ จะไม่ทราบเสียด้วยซ้ำว่าชีวิตนี้จะไปเจออะไร และจะเป็นภาพที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ถ่ายไม่ค่อยทัน บางภาพถ่ายมาแล้วกว่าจะพิมพ์และแสดงนิทรรศการก็จำไม่ได้แล้วว่าเป็นภาพอะไร ต้องเดาเอา อย่างไรก็ตามถือว่าภาพทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘รส’ ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง”

           ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ คงไม่มีใครสามารถบรรยายเป็นตัวหนังสือได้อย่างครบถ้วน “ท่านผู้อ่าน” หรือแม้แต่ท่านที่ไม่ชอบอ่าน แต่ชื่นชอบชมภาพ คงต้องหาหนังสือเล่มนี้มาชมกัน “แก้วใส” บอกได้เพียงว่าท่านจะไม่ผิดหวัง ช่วงเวลารื่นรมย์ที่ได้ชื่นชมภาพมากมายหลายหลากผ่าน “สายพระเนตร” เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข และสมกับชื่อ “ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง” จริงๆ ค่ะ

                                                                  แสงคือสี สีคือแสง

                                                                                                                                    
          หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของ “ทูลกระหม่อม” อีกเล่มหนึ่งค่ะ เป็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงถ่ายไว้ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๔๙ รวมระยะเวลา ๒๕ ปี ภาพส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่และอาณาเขตที่กว้างขวาง วัฒนธรรมและชนเผ่าที่หลากหลายของจีนผ่าน “สายพระเนตร” ได้บันทึกไว้ใน “หนังสือทูลกระหม่อม” เล่มนี้ค่ะ
           “ทูลกระหม่อม” ทรงเล่าว่า 
           “ข้าพเจ้าไม่มีภาพในการเยือนทุกครั้งเพราะว่าภาพที่ถ่ายออกมาไม่ค่อยมีคุณภาพ ที่จะแสดงได้ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่เคยเรียนถ่ายภาพ ไม่เคยใช้กล้องที่นักถ่ายภาพอาชีพใช้กัน ไม่มีโอกาสเล็งเพราะจะมีคนมากมายบังทิวทัศน์หรือสิ่งที่ต้องการถ่ายอยู่เนืองๆ อีกอย่างหนึ่งข้าพเจ้าติดการจดข้อความเพื่อจะเป็นข้อมูลสำหรับเขียนหนังสือและเขียนสมุดบันทึกส่วนตัว เรื่องภาพปล่อยให้คนอื่นช่วยถ่ายให้ดีกว่า แต่ก็มีภาพที่ข้าพเจ้าถ่ายที่คนอื่นไม่มีหรือไม่เคยเห็นเสียด้วยซ้ำจึงเป็นที่สนใจของผู้ชมนิทรรศการภาพ มีคนไทยหลายคนมาแนะนำว่า ควรจัดแสดงในประเทศไทยด้วย จึงได้คิดจัดการแสดงภาพถ่ายครั้งนี้ซึ่งได้เพิ่มภาพที่ถ่ายในปีนี้ (เดือนเมษายน ๒๕๕๐) ซึ่งยังไม่เคยจัดแสดงที่เมืองจีนด้วย ภาพที่ถ่ายใหม่ส่วนหนึ่งถ่ายผ่าน กระจกรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน จึงไม่สู้จะชัดนัก”
             “การแสดงภาพถ่าย” ที่ทรงกล่าวถึงจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน “แก้วใส” คิดว่าท่านที่พลาดโอกาสไปชมงานนิทรรศการดังกล่าว หรือแม้ท่านที่มีโอกาสชมงานนิทรรศการดังกล่าวแล้ว แต่ปรารถนาจะเก็บภาพทุกภาพไว้เป็นที่ระลึก ย่อมพลาดหนังสือเล่มนี้ไม่ได้แน่ๆ ค่ะ 
             อ้อ! คำนำและคำบรรยายภาพในหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ ๓ ภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ จึงสามารถเป็นของขวัญแก่เพื่อนชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ปรารถนาจะชมภาพหลากหลายมุมในสาธารณรัฐประชาชนจีนค่ะ

                                                              เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล

         คราวนี้ก็มาถึง “ของขวัญ” สำหรับนักอ่านทั้งหลายแล้วนะคะ “เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล” เป็นพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศลำดับที่ ๔๙ ของ “ทูลกระหม่อม” ค่ะ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ ๑๔-๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๕
     การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ “ทูลกระหม่อม” ทรงเล่าโดยสรุปว่า 
        “คนไทยคุ้นเคยดีกับวัฒนธรรมที่มาจากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหลายเมืองในมณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และไหหลำ เพราะเมืองหลายเมืองในมณฑลเหล่านี้เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของชาวจีนอพยพที่กระจายไปอยู่ดินแดนโพ้นทะเลหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
        “ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นต่อเนื่องกันมาจนถึงช่วงที่เพิ่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง มีชาวจีนจำนวนมากอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย กระแสธารการอพยพในแต่ละช่วงมากน้อยต่างกัน ตามปัจจัยแวดล้อมในแต่ละสมัย
        “ชาวจีนเหล่านี้และลูกหลานมีบทบาทในสังคมไทยหลากหลายด้าน จนมีผู้กล่าวว่า การศึกษาประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์จะละเลยไม่ศึกษาเรื่องราวของชาวจีนอพยพและเชื้อสายไม่ได้
        “ข้าพเจ้าได้ไปเยือนเมืองหลายเมืองในมณฑลฮกเกี้ยน และมณฑลไหหลำ อันเป็นบ้านเกิดของชาวจีนโพ้นทะเล หรือที่เรียกขานกันในภาษาจีนว่า หัวเฉียว ได้เห็นสภาพภูมิศาสตร์ ธรรมชาติอันงดงาม ศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น โบราณสถาน ศาสนสถาน พิพิธภัณฑ์ การศึกษา สภาพเศรษฐกิจ และอื่น ๆ จึงได้เรียบเรียงเรื่องราวเหล่านี้เป็นหนังสือชื่อ ‘เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล’”
 
          ชาวไทยเชื้อสายจีน ลูกหลานชาวจีนที่อยู่ในเมืองไทย หรือชาวไทยที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับประเทศจีน หรือแม้แต่ชาวไทยที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทยคงพลาดไม่ได้แล้วล่ะค่ะ “แก้วใส” บอกได้เลยว่าภาพของสถานที่ต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้  และเรื่องราวที่ทรงพบเห็น ทรงเล่าให้ฟัง จะทำให้เราเข้าใจและมองเห็นภาพประวัติความเป็นมาของชาวจีนและแม้แต่ชาวไทยดีขึ้นแน่ ๆ

                         บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์

 


         หนังสือเรื่องนี้ “ทูลกระหม่อม” ทรงเรียบเรียงจากคำสอนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี ๒๕๑๖ ค่ะ
        “ทูลกระหม่อม” ทรงเขียนไว้ใน “คำนำ” ของหนังสือเล่มนี้ตอนหนึ่งว่า 
        “...ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มาสอนวันเสาร์ ตอนเช้าสอนปรัชญาไปได้ระยะหนึ่ง อาจารย์เห็นว่าข้าพเจ้าน่าจะเข้าใจได้แล้ว จึงว่าอยากสอนให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจถึงธรรมเนียมประเพณีในบ้านเมืองตั้งแต่ครั้งโบราณ ได้แก่ เรื่องการเมือง การปกครอง กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม วิธีการสอน คืออาจารย์พูด ข้าพเจ้าฟังและจดไว้บ้าง บางทีอาจารย์ก็แนะนำหนังสือให้อ่าน เช่น กฎหมายตราสามดวง ประวัติศาสตร์ กฎหมาย เอกสารประวัติศาสตร์ เช่น Crawfurd’s Papers เป็นต้น
         ...มาภายหลังข้าพเจ้าคิดจะพิมพ์หนังสือเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับศาสตราจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงนึกถึงสมุดจดงานนี้ว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อ่านจะต้องคิดทบทวน บางส่วนที่ข้าพเจ้าอาจจะจดผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องไปได้บ้างเนื่องจากเป็นเวลานานมาแล้ว บางส่วนก็อ่านลายมือไม่ได้ มีบางส่วนอ่านไม่เข้าใจกระจ่าง ก็ไม่ทราบจะไต่ถามเอากับใคร ขณะที่เขียนบันทึกนี้เมื่อ ๒๒ ปีก่อนก็ไม่ได้ให้ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านอีกครั้ง
           อย่างไรก็ตาม หวังว่าส่วนที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์ได้บ้างพอควร และเป็นพื้นฐานสำหรับการที่จะค้นคว้าต่อไป”
          ท่านที่สนใจธรรมเนียมประเพณีด้านการเมืองการปกครอง สภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในสมัยโบราณ หรือแม้แต่ท่านที่ปรารถนาจะเรียนรู้เป็นเบื้องต้น หนังสือเล่มนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่ท่านแน่นอนค่ะ
          “บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์” เคยจัดพิมพ์มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๔๐ จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม โดยพลอากาศเอก สามารถ โสดสถิตย์ เพื่อแจกจ่ายเป็นวิทยาทานแก่สถาบันการศึกษา ห้องสมุดของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปผู้สนใจค่ะ ต่อมาในปี ๒๕๔๙ ได้จัดพิมพ์อีกครั้ง โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม เพื่อจำหน่ายในราคาเล่มละ ๑๕๐ บาท ท่านผู้อ่านที่สนใจคงต้องรีบหาซื้อกันหน่อยนะคะ หมดคราวนี้แล้วไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีการจัดพิมพ์ขึ้นอีก อ้อ..ลืมบอกไป หาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬา ฯ และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปค่ะ

                                                      ไทยทำ ไทยกิน กับข้าวฝรั่ง

        “ไทยทำ ไทยกิน กับข้าวฝรั่ง” นี้เป็น “ตำรากับข้าว” ค่ะ ความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ “ทูลกระหม่อม” ทรงบอกเล่าไว้ในหนังสือว่า
         “ข้าพเจ้าไปอยู่ที่เมืองตูร์ (Tours) ประเทศฝรั่งเศส ประมาณ ๒ อาทิตย์ (ผู้รู้บอกว่าไม่ควรใช้คำว่าอาทิตย์ ควรใช้คำว่าสัปดาห์) พักอยู่ที่บ้านสุภาพสตรีชาวฝรั่งเศส อายุ ๖๐ ปีเศษ ชื่อมาดามนิโกล เดอมองเต็กซ์ (Nicole Demonteix)
         “นิโกลเป็นคนชอบทำอาหาร เสนอว่าจะทำกับข้าวฝรั่งเศสให้ข้าพเจ้าเป็นครั้งคราว นอกจากนั้นข้าพเจ้าจะทำกินเองหรือหาทางจัดการตัวเอง ซึ่งไม่น่าลำบาก เพราะข้าพเจ้าฟังและพูดภาษาฝรั่งเศสได้ดีกว่าภาษาจีนและเยอรมัน เอาเข้าจริงนิโกลทำอาหารให้ทุกวันและทุกมื้อ ข้าพเจ้าทึ่งในความสามารถของเธอ จึงถามวิธีทำ และถ่ายรูปอาหารเอาไว้ทุกจาน นิโกลยังใจดีเขียนตำราอาหารเหล่านี้ใส่สมุดกลับมาลองทำ ข้าพเจ้ายังทำไม่ครบทุกอย่าง (ถ้าจะให้ครบคงอีกนาน) ทุกครั้งข้าพเจ้าจดวิธีการและถ่ายรูปเอาไว้ด้วย ข้าพเจ้าคิดว่าตนเองทำกับข้าวฝรั่งเศสได้อร่อย คนอื่นๆ ที่มาชิมก็ชมกันทั่วหน้า จึงขอเผยแพร่ให้ทุกท่านที่ชอบอาหารพวกนี้ทดลองทำรับประทานเอง
         “มีอยู่ตำราเดียวคือยำเกสรชมพู่ที่เป็นอาหารไทยขนานแท้ ขอนำมาใส่ไว้ด้วย ถือว่าเป็นการแสดง ‘ฝรั่งไทยสามัคคี’ ก็แล้วกัน”
          “กับข้าว” ที่ปรากฏอยู่ใน “ตำรา” เล่มนี้มีทั้งหมด ๑๐ รายการ ได้แก่ ยำเกสรชมพู่ มุสช็อกโกแลต ปลาค้อดราดซอสมะเขือเทศและข้าวสามอย่าง กระต่ายผัดเห็ดชามปิญง ซุปหัวหอม ขนมวานิลลา ไก่งวงซอสมัสตาร์ดโบราณ หอยแมลงภู่กับแซลมอนซอสไวน์ ไก่เมืองบาสก์ และผลไม้แห้งรวมต้มไวน์ชินอง ค่ะ
           “ตำรากับข้าว” เล่มนี้มีภาพสวยๆ ที่แสดงภาพอาหาร เครื่องปรุง และภาพขณะที่ “ทูลกระหม่อม” ทรง “ทำกับข้าว” พร้อมทั้งลายพระหัตถ์ที่ทรงบอกเล่าการทำ “กับข้าว” นั้นๆ อย่างละเอียด แค่ดูชื่อและชมภาพในหนังสือเล่มนี้ก็รู้สึก “อิ่มใจ” แล้วล่ะค่ะ แต่ถ้าผู้อ่านท่านใดที่ต้องการ “อิ่มท้อง” ด้วยคงต้องหาเครื่องปรุงมาลองทำรับประทานกันแล้วนะคะ 
               
     นอกจากนี้แล้ว ในปีนี้และปีที่ผ่านมาหนังสือ “ทูลกระหม่อม” ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศหลายเล่มที่ขาดตลาดไปนานแล้วได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ค่ะ เช่น
     - ข้ามฝั่งแห่งฝัน บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๔-๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๘ หลังจากที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่ง “ทูลกระหม่อม” ทรงบันทึกไว้ใน “สวนสมุทร” ซึ่งได้นำกลับมาพิมพ์ใหม่ในครั้งนี้เช่นเดียวกันค่ะ
     - ข้าวไทยไปญี่ปุ่น บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ เพื่อทอดพระเนตรกิจการทางด้านเกษตรและทรงร่วมงาน Japan-IRRI Day โดยทรงบรรยายเรื่องข้าวไทยในที่ประชุมด้วยค่ะ
     - แดร๊กคูล่าผู้น่ารัก บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศโรมาเนีย สาธารณรัฐฮังการี สาธารณรัฐออสเตรีย ราชอาณาจักรเบลเยียม และสมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ ๑๓-๒๕ มีนาคม ๒๕๓๗ ค่ะ


        นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่อง “ใต้เมฆที่เมฆใต้” “ทัศนะจากอินเดีย” “เบอร์ลินสิ้นกำแพง” “ประพาสอุทยาน” “มนต์รักทะเลใต้” “มุ่งไกลในรอยทราย” “ย่ำแดนมังกร” “เย็นสบายชายน้ำ” “เยือนถิ่นอินเดียนแดง” “ลัดฟ้าล่าวิชาหาอาจารย์” “ลาวใกล้บ้าน” “ลาวตอนใต้” “สวนสมุทร” “อนัมสยามมิตร” “ไอรักคืออะไร?” แต่ในที่นี้ขออนุญาตไม่กล่าวในรายละเอียดนะคะ เนื่องจากเนื้อที่หน้ากระดาษมีจำกัดจริงๆ ค่ะ...
        ท่านที่สนใจพระราชนิพนธ์เล่มใดสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กองงานในพระองค์  หากมีข้อสงสัยก็ส่งอีเมล์มาสอบถามได้ที่ผู้ดูแลเว็บไซต์ สอบถามได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป และท่านยังสามารถติดต่อโดยตรงถึงคุณอรวรรณ แย้มพลาย ที่กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๓ โทรศัพท์ ๐๒-๒๘๐-๓๕๘๑-๙ ต่อ ๖๗๑ โทรสาร ๐๒-๒๘๐-๑๖๓๙ ค่ะ แต่ละเล่มจัดพิมพ์เป็นฉบับปกอ่อน ราคาย่อมเยา ประมาณ ๑๐๐ – ๒๐๐ บาท รายได้สมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาค่ะ
         “แก้วใส” ขออนุญาตบอกกล่าวอีกครั้งว่า เป็นโอกาสอันดีสำหรับท่านนักสะสมทั้งหลายที่จะได้จัดหาหนังสือ “ทูลกระหม่อม” ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศมาเก็บไว้ให้ครบชุด รวมทั้งท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยได้อ่านหนังสือ “ทูลกระหม่อม” หลายเล่มนี้ก็จะได้ลองซื้อหามาอ่านกัน รับรองว่าท่านจะประทับใจ ได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแน่นอนค่ะ
    
         วันว่างจากงานในฤดูกาลนี้  หากได้เครื่องดื่มอุ่น ๆ สักถ้วย แล้วท่องเที่ยวไปยังดินแดนอันไกลโพ้น เพิ่มพูนความรู้ และเพลิดเพลินเจริญใจ ผ่านหนังสือ “ทูลกระหม่อม” หลากหลายภาพ หลากหลายเรื่องราว คงจะเป็นวันดีๆ ที่แสนสุขและอบอุ่นมิใช่น้อย
         ฉบับนี้ “แก้วใส” ขอลาท่านผู้อ่านทุกท่านไปก่อน แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้านะคะ
     
                                                                       สวัสดีค่ะ